ที่ตั้ง ตั้งอยู่ห่างจากพระประโทณเจดีย์ ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร เข้าไปทางถนนสายต้นสำโรง ข้างวิทยาลัยเทคนิคนครปฐมด้านทิศตะวันออก พ.ศ. 2483 กรมศิลปากร ได้ร่วมมือกับศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ มองสิเออร์ ปิแอร์ดูปองต์ ทำการขุดค้นพร้อมกับ ขุดวัดพระเมรุ ใกล้สวนนันทอุทยาน พบเจดีย์ใหญ่ยอดปรักหักพังหมด และยังพบปฏิมากรรม เช่น ประเภทรูปปั้นดินเผา ในสมัยแรกสร้าง ประเภทปูนปั้นในสมัยที่ 2 จากการขุดพบสันนิษฐานว่าเจดีย์จุลประโทณ ได้ก่อสร้างเพิ่มเติมมาถึง 3 สมัยด้วยกัน แต่การสร้างครั้งที่ 3 ไม่ปรากฏรอยให้เห็นในปัจจุบัน เพราะต้องรื้อออกให้เห็นการสร้างครั้งที่ 2 และครั้งที่ 1 โบราณวัตถุ ที่ขุดพบในบริเวณเจดีย์จุลประโทณมีมากมาย โดยเฉพาะในสมัยพระครูสมถกิตติคุณ (ชุ่ม) เช่น พระพุทธรูป ลูกประคำ เศียรพราหมณ์ เศียรพระพุทธรูป ซึ่งทำด้วยปูนปั้นตามที่กล่าวมาแล้ว
โบราณวัตถุเหล่านี้ ได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันส่วนใหญ่แสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดนครปฐม และมีบางส่วนที่หลวงพ่อชุ่ม ได้นำไปติดไว้รอบเจดีย์โดยท่านได้สร้างเจดีย์ไว้หน้ากุฏิของท่าน ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เป็นแหล่งรวบรวมและแสดงโบราณวัตถุสมัยทวารวดี ของวัดพระประโทณเจดีย์ แต่ละปีจะมีนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาดูมาศึกษาเป็นระยะๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่บรรจุอัฐิของท่านด้วย
ที่มาของโบราณวัตถุที่พระครูสมถกิตติคุณ (ชุ่ม) นำไปมอบให้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดนครปฐม และที่ท่านเก็บรวบรวมไว้ในอนุสาวรีย์เจดีย์ หน้ากุฏิของท่าน ซึ่งถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ของวัดพระประโทณเจดีย์ บางส่วนหลวงพ่อได้มาจากชาวบ้านที่ขุดพบในบริเวณที่ดินของตนเอง แล้วนำมามอบให้ท่านเก็บไว้ ซึ่งก็มีเป็นจำนวนมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น