วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พระกฐินพระราชทาน 2552

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้ กรมศิลปากร ถ.หน้าพระธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เพื่อน้อมนำไปถวาย ณ วัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม วันเสาร์ ที่ ๑๗ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒ (ตรงกับวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑) เวลา ๑๐.๐๐ น.
ฉะนั้น จึงเรียนเชิญท่านไปร่วมต้อนรับและอนุโมทนาผ้าพระกฐินพระราชทานครั้งนี้ โดยพร้อมเพียงกัน

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ประวัติอดีตเจ้าอาวาส วัดพระประโทณเจดีย์ ตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏค้นได้

จากอดีดอันยาวนานไม่ต่ำกว่า ๑,๕00 ปี วัดพระประโทณเจดีย์ได้ผ่านยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด แล้วทรุดโทรมไปตามการเวลา และได้พลิกฟื้นเจริญรุ่งเรืองมาอยู่วัดแนวหน้า จนได้รับยกย่องเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ได้รับยกย่องเป็นวัดพัฒนาดีเด่น และยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร และได้รับพระราชทานพัด วัดพัฒนาดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ดังนี้ ก็เพราะความพยายามอย่างยวดยิ่ง ในการปรับปรุงพัฒนาบริเวณภายในวัด ให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยเจริญตาเจริญใจแก่ผู้พบเห็น ได้ซ่อมแซมก่อสร้างกุฏิวิหารให้มั่นคงแข็งแรงสวยงาม ของหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบัน คือ พระเดชพระคุณฯ พระราชเจติยาภิบาล
วัดพระประโทณเจดีย์ ในปัจจุบันเป็นวัดที่มีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ ๖ ด้านด้วยกัน คือ
๑. เป็นวัดที่มีความสะอาดสวยงาม เจริญตาเจริญใจของผู้พบเห็น
๒. เป็นวัดที่มีการวางผังอย่างดีเยี่ยม สิ่งปลูกสร้างภายในวัดเป็นระเบียบเรียบร้อยทรงไทยทั้งหมด
๓. เป็นวัดที่ส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุสามเณรมาโดยตลอด พระภิกษุสามเณรของวัดจึงมีแต่รูปที่ฝักใฝ่แต่การศึกษาเกือบทั้งหมด
๔. เป็นวัดที่ริเริ่มและดำเนินโครงการข้าวก้นบาตร เพื่อสงเคราะห์นักเรียนโรงเรียนวัดพระประโทณเจดีย์ มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๒๙ จนถึงปัจจุบัน และมีนักเรียนมารับประทานอาหาร ๓๐- ๔๐ คน ของวันที่เปิดการสอน
๕. เป็นที่ประดิษฐานขององค์พระประโทณเจดีย์ ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เป็นศิลปแบบทวารวดี
๖. เป็นวัดที่มีการปกครองโดยยึดหลักพระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ และทรงบัญญัติไว้ และตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์กฎระเบียบมหาเถระสมาคม คำสังของผู้บังคับบัญชา เป็นหลักสำคัญ
ปัจจุบันนี้ คือ ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ วัดพระประโทณเจดีย์ มีพระภิกษุสามเณรรวมทั้งหมด ๘๒ รูป แยกเป็นพระภิกษุ ๓๐ รูป สามเณร ๕๒ รูป
สำหรับสถานที่ราชการที่ตั่งอยู่ในพื้นที่ของวัดมีทั้งหมด ๔ แห่งด้วยกัน คือ
๑. วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม สังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
๒. สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดนครปฐม สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช)
๓. โรงเรียนพระประโทณเจดีย์
๔. สำนักงานสุขาภิบาลธรรมศาลา ตำบลธรรมศาลา

อดีตเจ้าอาวาส วัดพระประโทณเจดีย์ ตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏค้นได้

๑ พระครูทักษิณานุกิจ
ชื่อ พระครูทักษิณานุกิจ ฉายา อายุ พรรษาไม่ปรากฏหลักฐาน
สถานเดิม ชื่อ อยู่ เกิด ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
งานปกครอง เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๑ ประมาณตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๐ – ๒๔๒๔
สมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นพิเศษ
ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและพัฒนาวัดมาโดยตลอด แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่นอน เนื่องจากไม่พบหลักฐานที่บันทึกเกี่ยวกับผลงานของท่าน รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่ง ๒๕ ปี


๒ พระครูสมถกิตติคุณ
ชื่อ พระครูสมถกิตติคุณ ฉายา เปสโล อายุ ๘๑ ปี พรรษา ๖๐
สถานะเดิม ชื่อ กลั่น นามสกุล เทศนาบุญ เกิดวันพฤหัสบดี ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๓ บิดา นายเขียว เทศนาบุญ มารดา นางมา เทศนาบุญ ตำบล ยายชา อำเภอ สามพราน จังหวัด นครปฐม
อุปสมบท เมื่ออายุ ๒๑ ปี มะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ วัดพระประโทณเจดีย์ ตำบลพระประโทน อำเภอเมื่องนครปฐม จังหวัดนครปฐม
งานปกครอง - พ.ศ. ๒๔๒๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระประโทณรูปที่ ๒ เมื่ออายุ ๓๒ มีพรรษาได้ ๑๑ พรรษา
-เป็นเจ้าคณะแขวง (เจ้าคณะอำเภอในปัจจุบัน) อำเภอเมื่องนครปฐม จังหวัดนครปฐม
-เป็นกรรมการสงฆ์
-เป็นพระอุปัชฌาย์
ความชำนาญการ
-มีความสามารถในการปกครองพระภิกษุสามเณรอย่างดียิ่ง และเป็นผู้เคร่งครัดในระเบียบวินัยของพระภิกษุสามเณรเป็นอย่างมาก
-การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์
งานสาธารณูปการ
- สร้างกุฏิหอสวดมนต์ ๑ หลัง
- ท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ รวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ๔๘ ปี


๓ พระใบฎีกาบุญทอง เย็นใจ
ชื่อ นามเดิม บุญทอง นามสกุล เย็นใจ (เดิมแซ่จิ๋ว) ฉายา ไม่ปรากฏหลักฐาน
สถานเดิม เกิดปี ขาล พ.ศ. ๒๔๔๕ เป็นบุตรคนที่ ๒ บิดา นายเลี้ยง เย็นใจ มารดา นาง อิน เย็นใจ
ตำบลพระประโทน อำเภอเมื่องนครปฐม จังหวัดนครปฐม
อุปสมบท เมื่ออายุ ๒๐ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๖๕ ณ วัดพระประโทณเจดีย์ ตำบลพระประโทน อำเภอเมื่องนครปฐม จังหวัดนครปฐม
งานปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระประโทณเจดีย์ และเป็นเจ้าอาวาสในปีเดียวกัน เมื่ออายุ ๒๙ พรรษา ๙
สมณศักดิ์ เป็นฐานานุกรมที่ พระใบฎีกา บุญทอง ของ พระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ) เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว เจ้าคณะนครชัยศรี (เจ้าคณะจังหวัด) ดำรงตำแหน่งจ้าอาวาสอยู่ ๑ ปี ก็ลาสิกขาในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ขณะนั้น อายุได้ ๓๑ ปี สมรสกับนางสาวผิว วงษ์วรรค์ บ้านบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ต่อมาได้เป็นกำนัน ตำบลบางแก้ว มีฐานมั่นคงดี ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ สิริรวมอายุ ได้ ๙๕ ปี

การศึกษา สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนวัดพระประโทณเจดีย์
ทางธรรมจบนักธรรมเอก
ผลงาน เนื่องจากดำรงตำแหน่งในเวลาระยะอันสั้นจึงไม่ปรากฏผลงานอันเด่นชัด นอกจากในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ขณะเป็นพระลูกวัดได้ชักชวนคุณโยมชม จีระพันธ์ สร้างศาลาการเปรียญ ๑หลัง ซึ่งต่อมาก็ได้ทรุดโทรมไปตามการเวลา เจ้าอาวาสรูปต่อ ๆ มาก็ได้รื้อถอนและย้ายไปปลูกที่ใหม่ (ปัจจุบันคือศาลาฌาปนสถานซึ่งใช้ได้เฉพาะเสาเท่านั้น)



๔ พระครูสมถกิตติคุณ (ชุ่ม)
ชื่อ นามเดิม ชุ่ม นามสกุล เทศนาบุญ บิดา นายเขียว เทศนาบุญ มารดา นางมา เทศนาบุญ
สถานะเดิม เกิดที่ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ท่านเป็นน้องชาย ของพระครูสมถกิตติคุณ (กลั่น เปสโล) เจ้าอาวาสรูปที่ ๒
อุปสมบท ไม่ปรากฏยืนยัน วัน, เดือน, ปี ที่แน่นอน ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕
สมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัติชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ทราบว่าด้วยเหตุใดหลักฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับตัวท่านมีปรากฏน้อยมาก นอกจากจะมีปรากฏว่า เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ศิษยานุศิษย์เก็บศพไว้ถึง ๑๐ ปี และได้ฌาปนกิจศพ ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ สันนิษฐานว่าที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส บ้านเมืองกำลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกด้วย ประกอบกับท่านชราภาพมากแล้ว จึงไม่สามารถสร้างผลงานใด ๆ ให้เป็นที่ปรากฏนัก ทราบว่าท่านเป็นพระที่มีความสันโดษอย่างยิ่ง เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่ค่อยนิยมเกี่ยวกับด้านวัตถุมงคล และการก่อสร้างใด ๆ
ผลงาน ท่านได้รวบรวมเอาศิลปวัตถุของโบราณต่าง ๆ ที่มีอยู่ในวัดและที่มีคนขุดพบแล้วนำมาถวายท่าน ท่านจึงสร้างอนุสาวรีย์รูปทรงเจดีย์ นำของเหล่านั้นมาติดไว้รอบเจดีย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง อยู่ข้างกุฏิ ๔ ในวัดพระประโทณ แหล่งรวบรวมแสดงโบราณวัตถุสมัยทวารวดี ของวัดพระประโทณเจดีย์ แต่ละปีมีนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักศึกษา ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศมาดูมาศึกษาเป็นระยะ ๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่บรรจุอัฐ ของพระครูสมถกิตติคุณ (ชุ่ม เทศนาบุญ)



๕. พระอธิการบุญรอด อาภานันท์
ชื่อ นามเดิม บุญรอด นามสกุล แซ่โง้ว เป็นบุตรคนที่ ๓ บิดา นายดี อาภานันท์ มารดา นางบู่ อาภานันท์
สถานะเดิม เกิดปี พ.ศ.๒๔๔๘ หมู่ที่ ๕ ตำบลธรรมศาลา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
อุปสมบท เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ ขณะอายุได้ ๒๐ ปี ในช่วงระหว่างเป็นพระลูกวัด ท่านได้ช่วยเหลืองานกิจการคณะสงฆ์ของ พระครูสมถกิตติคุณ (ชุ่ม เทศนาบุญ) มาโดยตลอด เนื่องจากหลวงพ่อชุ่มได้ชราภาพมาก ต่อมาภายหลังจึงได้ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสรูปที่ ๕
ความชำนาญการ ท่านมีความชำนาญในด้านการก่อสร้างเป็นพิเศษ โดยเฉพาะช่างไม้ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมวาจาจารย์ ผลงานของท่านที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันคือ รูปปั้นยายหอมกำลังอุ้มพญาพาน ซึ่งท่านได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ผู้ปั้นคือนายช่างนาม เป็นชาวตำบลพระประโทน ต่อมาได้ทำการลาสิกขาบทปี พ.ศ.๒๔๘๗ แล้วได้สมรสครองเรือนดำรงชีพอยู่กับภรรยาในเขตตำบลพระประโทน ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว

๖ พระอธิการบุญเลิศ กลฺยาโณ
ชื่อ นามเดิม บุญเลิศ นามสกุล ฟักแก้ว บิดา นายมิ่ง ฟักแก้ว มารดา นางแหยม ฟักแก้ว
สถานะเดิม เกิด เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๔๖๑ ที่บ้านไร่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
อุปสมบท เมื่ออายุ ๒๑ ปี ที่วัดดอนใหญ่ ตำบลดอนเซ่ง อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๑ โดยมีหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง เป็นพระอุปัชฌาย์ พรรษาที่ ๖ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระประโทณเจดีย์ ปีพ.ศ.๒๔๘๗
งานสาธารณูปการ ในขณะที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส ได้นำญาติโยมก่อสร้างศาลาการเปรียญ ๑ หลัง ในปีพ.ศ.๒๔๙๔ สิ้นงบประมาณ ๑ แสนบาทเศษ เป็นศาลาไม้ ยกพื้นสูง ๑ เมตร หัวหน้าช่างขณะนั้น คือกำนันเหว่า นะวาระ ต่อมาภายหลัง เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือพระราชเจติยาภิบาล ได้ทำการกระดี่พื้นให้สูงขึ้น ๑.๘๐ เมตร และได้บูรณะ ปรับปรุงให้มีสภาพดียิ่งขึ้น ผลงานอีกอย่างหนึ่ง ของพระอธิการบุญเลิศ คือได้ซ่อมแซมหอสวดมนต์ ๑ ครั้ง ให้มีสภาพแข็งแรงเหมาะแก่การทำกิจของสงฆ์ และสร้างเหล็งราวบันไดขึ้นไปบนองค์พระประโทณฯ อยู่บนชั้น ๒
ความสามารถพิเศษ เมื่อมีพรรษา ๖ ท่านได้เป็นพระผู้ทรงพระปาฏิโมกข์ และเป็นอนุสาวนาจารย์
ความชำนาญการ ท่านมีความชำนาญด้านการก่อสร้าง
งานศาสนศึกษา ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการควบคุมการสอบธรรมสนามหลวง ที่วัดโพรงมะเดื่อ (สมัยนั้นทำการสอบในราวเดือนยี่) เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง ที่วัดเสนหา จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นวัดของเจ้าคณะจังหวัด (ฝ่ายธรรมยุต) ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอยู่ ๗ ปี ภายหลังท่านได้ลาสิกขาบท เมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๔ ปัจจุบันนี้ยังมีชีวิตอยู่ อายุ๘๑ ปี ดำรงตนอยู่อย่างเรียบง่ายกับลูกหลาน ที่คุ้มวัดธรรมศาลา


๗ พระครูวินยาภินันท์ (หวัง)
ชื่อ พระครูวินยาภินันท์ ฉายา พุทฺธสโร วัดพระประโทณเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
สถานะเดิม นามเดิม หวัง นามสกุล เพ็ชรที่หนึ่ง บิดา นามพิมพ์ เพ็ชรที่หนึ่ง มารดา นางสี เพ็ชรที่หนึ่ง เกิดวันพฤหัสบดี ที่ ๑๐ กันยายน ๒๔๓๔ ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีเถาะ บ้านวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
บรรพชา – อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๕ เวลา ๑๓.๒๕ น. ณ พัทธสีมา วัดช่องลมวรรณาราม ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พระอธิการตาด วัดบางวันทอง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการอินทร์ วัดช่องลมวรรณาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระอธิการเกตุ วัดหัวป่า เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังอุปสมบท ท่านได้ย้ายเข้าไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ ระยะแรกเข้าไปจำพรรษาอยู่ที่วัดราชสิทธาราม ธนบุรี อยู่ ๓ พรรษา แล้วจึงย้ายเข้าไปอยู่ที่วัดบพิตรภิมุข เพื่อเรียนทั้งบาลีและนักธรรม สอบนักธรรมตรีได้เมื่อพ.ศ.๒๔๖๒ แต่บาลีที่เรียนไว้ยังไม่ยอมสอบ เพราะตั้งใจว่าจะเรียนไว้เพื่อรู้ ก็พอดีท่านเจ้าคุณมหาสิทธิการ (ถม) เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม มานิมนต์ให้ไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ที่วัดบางขันแตก จังหวัดสมุทรสงคราม จึงย้ายไปอยู่ที่วัดบางขันแตก เมื่อพ.ศ.๒๔๖๓ ได้อยู่สอน ๑ พรรษา ท่านเจ้าคุณมหาสิทธิการ ก็ส่งให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโพงพาง จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อพ.ศ.๒๔๖๔ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ได้ ๑ ปี ก็ขอลาออกแล้วได้ไปเป็นครูสอนนักธรรมและบาลีที่วัดอัมพวันเจติยาราม อยุ่กับท่านเจ้าคุณพระมหาสิทธิการ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม ดำรงตำแหน่งฐานานุกรมเป็นพระวินัยธร เมื่อพ.ศ.๒๔๖๕ ต่อมาย้ายกลับเข้าไปศึกษานักธรรมและบาลีอยู่จำพรรษาที่วัดบพิตรภิมุขอีก แล้วสอบนักธรรมชั้นโทและ ป.ธ. ๓ ได้เมื่อพ.ศ.๒๔๗๒ สอบได้ ป.ธ. ๔ เมื่อพ.ศ.๒๔๗๔ สอบได้ ป.ธ. ๕ เมื่อพ.ศ.๒๔๗๖ ต่อมาเมื่อพ.ศ.๒๔๘๑ ได้ถูกนิมนต์ให้ไปเป็นครูสอนนักธรรมและบาลีที่วัดเทียนดัด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม อยู่สอนได้ ๑ พรรษา ก็กลับไปอยู่ที่วัดบพิตรภิมุข ก็พอดีพระครูอมรศัพท์ (สุพงษ์ เนตรสว่าง) ซึ่งเป็นผู้ช่วยเลขาของ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุฯ เพื่อจะได้ให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม จึงย้ายจากวัดบพิตรภิมุขไปอยู่วัดมหาธาตุฯ เมื่อพ.ศ.๒๔๘๒ แล้วสอบป.ธ. ๖ ได้ในปีนั้นเอง เพื่อที่จะได้มีสิทธิสอบ ป.ธ. ๗ จึงหันกลับมาสอบนักธรรมเอก สอบได้เมื่พ.ศ.๒๔๘๔ แต่สอบ ป.ธ. ๗ ตก เมื่อได้ย้ายเข้ามาอยู่วัดมหาธาตุฯ แล้วได้เป็นครูสอบนั้กธรรม บาลีไวยากรณ์ธรรมบทกอง ๑ เป็นกรรมการอบรมศิษย์วัดมหาธาตุฯ และเป็นเจ้าคณะปกครองคณะ ๒๕ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) ส่งให้ไปรักษาการเจ้าอาวาสวัดผาสุการาม อำเภอบางแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งขณะนั้นกำลังเกิดเรื่องยุ่งอยู่ แล้วได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส เมื่อพ.ศ.๒๔๘๙ ได้เป็นสาธารณูปการอำเภอบางเลน เมื่อพ.ศ.๒๔๙๗ ไปอยู่ที่วัดผาสุการามได้ ๑๑ พรรษา ก็พอดีที่วัดพระประโทณเจดีย์ ว่างเจ้าอาวาส พระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน) วัดดอนยายหอม จึงชวนให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระประโทณเจดีย์ ทางคณะสงฆ์จึงย้ายให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระประโทณเจดีย์ เมื่อพ.ศ.๒๔๙๙ และได้เลื่อนสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ที่ พระครูวินยาภินันท์ ในปีนี้เองเป็นพระวินัยธรจังหวัดนครปฐม เมื่อพ.ศ.๒๔๙๙ เป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตจังหวัดนครปฐม เมื่อพ.ศ.๒๕๐๑ เป็นเจ้าคณะตำบลดอนยายหอม เมื่อพ.ศ.๒๕๐๖
ในเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสมาเป็นเวลา ๕ ปี ต่อมาองค์พระประโทณเจดีย์เกิดชำรุดขึ้น เนื่องจากฝนตกหนัก เมื่อพ.ศ.๒๕๐๔ เวลา ๐๗.๐๐ น.เศษ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน (พระราชเจติยาภิบาล) ในขณะนั้นเป็นอันเตวาสิก กำลังนั้งฉันภัตตาหารอยู่ ได้ยินเสียงดังครืน แล้วหันมองไปที่องค์พระประโทณ ปรากฏว่าอิฐที่ก่อไว้กลางองค์พระทางทิศตะวันตกเกิดพังลงมา ประมาณเศษหนึ่งส่วนสี่ ของลานสี่เหลี่ยมด้านบนขององค์พระเจดีย์ ต่อมากองโบราณคดีทราบข่าวจึงมาสำรวจ และว่าจะมาซ่อมแต่ไม่ซ่อม ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลใด พระครูวินยาภินันท์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้น เห็นว่าถ้าปล่อยไว้องค์พระประโทณเจดีย์ จะกลายเป็นเศษอิฐเศษปูน จึงจัดการซ่อมโดยใช้แบบตั้งแล้วเทเป็นขั้นๆ สร้างทับอิฐเก่าเพื่อกันพังรอบองค์เจดีย์ ที่เป็นอิฐโบราณก่ออยู่ และเทคอนกรีตบนลานสี่เหลี่ยมด้านบนของเจดีย์ พร้อมกับทำลูกกรงทั้ง ๔ ด้าน ในส่วนบนของเจดีย์ ต่อมาได้ทำแบบเทปูนฐานสี่เหลี่ยมชั้นล่างขององค์พระประโทณเจดีย์ โดยปิดอิฐโบราณที่ก่อไว้เดิมหมด จึงปรากฏว่าเป็นของใหม่แต่ของเก่าอยู่ข้างใน สรุปว่าสร้างทับของเก่าไว้ใหม่หมดอีก ๒ ชั้น
ในสมัยที่ พระครูวินยาภินันท์ ปกครองวัดพระประโทณเจดีย์ รวมได้ ๑๕ ปี ท่านได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ก่อสร้างถาวรวัตถุไว้เป็นจำนวนมากมาย จนกระทั่งทางจังหวัดได้เสนอให้เป็น วัดพัฒนาตัวอย่างประจำปี พ.ศ.๒๕๐๗ สิ่งก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ ที่เป็นผลงานของ พระครูวินยาภินันท์ ตามที่พระเดชพระคุณฯ พระราชเจติยาภิบาล เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นอันเตวาสิกของท่าน ได้เก็บรวบรวมข้อมูลไว้มีดังนี้
งานสาธารณูปการ ผลงานการก่อสร้าง
พ.ศ.๒๕๐๐ – ๒๕๐๖ สร้างกุฏิสงห์จำนวน ๓ หลัง ทำเป็น ๒ ชั้น สิ้นเงินประมาณ ๑๒๔,๑๕๑ บาท
พ.ศ.๒๕๐๒ สร้างศาลาพักร้อน ๒ หลัง สิ้นเงินประมาณ ๔๓,๐๐๐ บาท
พ.ศ.๒๕๐๓ สร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท สิ้นเงินประมาณ ๗๕,๐๐๐ บาท
พ.ศ.๒๕๐๕ สร้างกุฏิกรรมฐานบริเวณข้างวิหารหลวงพ่อโต บนลานเจดีย์ สิ้นเงินประมาณ ๑๗,๕๐๐ บาท
พ.ศ.๒๕๐๘ สร้างกำแพงแก้วหน้าวัดพร้อมทั้งซุ้มประตู ๓ ซุ้ม สิ้นเงินประมาณ ๙๕,๑๙๑ บาท
พ.ศ.๒๕๑๐ สร้างกุฏิกรรมฐานบริเวณข้างวิหารหลวงพ่อโต บนลานเจดีย์ จำนวน ๑ หลัง สิ้นเงินประมาณ ๓๕,๐๐๐บาท
พ.ศ.๒๕๑๑ เจาะน้ำบาดาล สิ้นเงินประมาณ ๙,๕๕๐ บาท
พ.ศ.๒๕๑๑ รื้อกุฏิ ๓ หลัง แล้วนำมาปลูกเข้าแถวใหม่ สิ้นเงินประมาณ ๗๖,๖๐๑ บาท
พ.ศ.๒๕๑๒ สร้างเมรุเผาศพและศาลาเมรุคู่เมรุ ติดกับศาลาการเปรียญ สิ้นเงินประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ.๒๕๑๓ สร้างกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตก และทิศเหนือ สิ้นเงินประมาณ ๕๔,๙๔๖ บาท
พ.ศ.๒๕๑๔ รื้อศาลาดินแล้วไปปลูกข้างในใหม่ สิ้นเงินประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท
ผลงานการบูรณปฏิสังขรณ์
พ.ศ.๒๔๙๙ ทาสีองค์พระประโทณเจดีย์ สิ้นเงินประมาณ ๕,๐๐๐ บาท
พ.ศ.๒๕๐๐ ลงรักปิดทองติดกระจกหน้าจั่วศาลาการเปรียญ สิ้นเงินประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ.๒๕๐๔ ได้ทำการบูรณะวิหารหลวงพ่อโตครั้งใหญ่ คือ ทำแบบเทคอนกรีตเสริมเหล็กผนังพระวิหาร ทั้ง ๔ ด้าน แล้วฉาบเรียบเทเสาคอนกรีต ๒ ต้น รับหน้าจั่ว ด้านทิศตะวันออก เปลี่ยนไม้ เครื่องบนเป็นจำนวนมาก แล้วรื้อกระเบื้อง แบบกาบกล้วยออก และกลอนระแนงออก เปลี่ยนกลอนระแนงใหม่ทั้งหมดหลัง แล้วมุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผาแล้วทำช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ทำลวดลายไทยที่หน้าบัน ทำลวดลายที่ซุ้มประตูและหน้าต่างทุก ๆ ช่อง สิ้นเงิน ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ.๒๕๐๔ เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กสี่เหลี่ยมชั้นบนลานเจดีย์ เสร็จแล้วทำลูกกรงล้อมรอบทั้งสี่ทิศ ด้านบนองค์เจดีย์ด้วย
พ.ศ.๒๕๐๔ – ๒๕๐๘ ได้ทำการบูรณะองค์พระประโทณเจดีย์ เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กสี่เหลี่ยมชั้นบน ลานเจดีย์ และทำลูกกรงรอบองค์พระ แล้วทาสีใหม่ สิ้นเงินประมาณ ๑๓๕,๐๕๕ บาท
(ให้ดูรายระเอียดการบูรณปฏิสังขรณ์ ครั้งสุดท้ายของพระครูวินยาภินันท์ ในประวัติองค์พระ ประโทณเจดีย์)
ประมาณพ.ศ.๒๕๐๗ ได้ทำการบูรณะพระอุโบสถ คือ เปลี่ยนกระเบื้องปูนทราย มาเป็นกระเบื้องเคลือบดิน เผา เสร็จแล้วทาสีทำลูกกรง เหล็กดัดตามหน้าต่าง ทุกช่องทำประตูเหล็กทั้ง ๔ ประตู สิ้นเงิน ประมาณ ๖๕,๐๐๐ บาท
พ.ศ.๒๕๑๐ ซ่อมศาลาโยมชม จีรพันธุ์ ดัดแปลงเป็นศาลาดิน สิ้นเงินประมาณ ๑๓,๒๔๗ บาท
ประมาณปีพ.ศ.๒๕๑๐ ได้ทำการบูรณะ เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กบนลานเจดีย์ชั้นล่าง ๓ ด้าน เว้นด้านทางทิศใต้ สิ้นเงินประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาทเศษ
พ.ศ.๒๕๑๑ ได้ทำการบูรณะศษลาการเปรียญพร้อมทั้งติดลูกกรงเหล็ก เปลี่ยนกระเบื้องปูนทราย มาเป็น กระเบื้องเคลือบดินเผา เสร็จแล้วตีฝ้าด้วยกระเบื้องแผ่นเลียบ สิ้นเงินประมาณ๑๑๕,๔๖๙ บาท

ท่านพระครูวินยาภินันท์ ได้มาก่อสร้างถาวรวัตถุก่อสร้างวัด สิ้นมูลค่าทั้งหมดประมาณ ๗๑๐,๙๓๙ บาท(เจ็ดแสนหนึ่งหมื่นเก้าร้อยสามสิบเก้าบาทถ้วน)และงานด้านบูรณปฏิสังขรณ์
สิ้นมูลค่าทั้งหมดประมาณ ๕๙๓,๗๗๑ บาท (ห้าแสนเก้าหมื่นสามพันเจ็ดร้อยเจ็ดสิบเอ็ดบาท ถ้วน) รวมผลงานของท่านทั้งด้านการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งหมดสิ้นเงินประมาณ ๑,๒๐๔,๗๑๐ บาท (หนึ่งล้านสองแสนสี่พันเจ็ดร้อยสิบบาทถ้วน) ท่านทำความเจริญให้แก่วัด พระประโทณเจดีย์ ตั้งแต่ท่านมาอยู่จนกระทั่งมรณภาพ และยังได้นำเงินส่วนตัวเข้า บูรณปฏิสังขรณ์ด้วยจนหมด เพราะท่านได้มอบกายถวายชีวิตให้แก่พระพุทธศาสนาจนกว่าชีวิต จะหาไม่ ท่านทำงานการก่อสร้างไม่หยุดหย่อนร่างกายจึงแข็งแรงอยู่เสมอ แต่แล้วเมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๑๓ ท่านก็เริ่มป่วยเป็นโรคมะเร็งที่กล่องเสียง และได้ไปฉายแสงที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ก็ไม่หาย อยู่จนกระทั่ง วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๑๔ เวลา ๐๗.๔๐ น. ท่านก็ถึงแก่มรณภาพ ณ ที่ โรงพยาบาลนครปฐม สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี ๕๙ พรรษา

๘ พระมหาปราโมทย์ ปโมทิโต
ชื่อ นามเดิม ปราโมชย์ นามสกุล เพ็ชรที่หนึ่ง บิดา นายปั้น เพ็ชรที่หนึ่ง มารดา นางชั้ว เพ็ชร ที่หนึ่ง
สถานะเดิม เกิดที่บ้านยางงาม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี พ.ศ.๒๔๘๕ ปีมะเมีย ท่านเป็ฯหลานของ พระครูวินยาภินันท์ (หวัง พุทธสโร เจ้าอาวาสรูปที่ ๗ มีศักดิ์เป็นหลวงลุง)
บรรพชา ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๓ ปี ที่บ้านเกิดของท่าน หลวงลุงได้ไปรับมาอยู่ด้วย เพื่อศึกษพระปริยัติธรรม
อุปสมบท เมื่อพ.ศ.๒๕๐๕ วัดพระประโทณเจดีย์ ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัด นครปฐม พระอุปัชฌาย์ พระครูวินยาภินันท์
วิทยฐานะ พ.ศ.๒๕๐๗ สอบได้ประโยค ป.ธ.๓ สำนักเรียนวัดพระประโทณเจดีย์
พ.ศ.๒๕๑๐ สอบได้ประโยค ป.ธ.๔ สำนักเรียนวัดพระประโทณเจดีย์
พ.ศ.๒๕๑๑ สอบได้ประโยค ป.ธ.๕ สำนักเรียนวัดพระประโทณเจดีย์
พ.ศ.๒๕๑๘ สอบได้ประโยค ป.ธ.๖ สำนักเรียนวัดพระประโทณเจดีย์
พ.ศ.๒๕๒๐ สอบได้ประโยค ป.ธ.๗ สำนักเรียนวัดบ้านถ้ำ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
งานสาธารณูปการ เมื่อพ.ศ.๒๕๑๕ ได้ก่อสร้างกุฏิ คุณนายหลุย นิลสุวรรณ เนื่องจากว่าท่านดำรง ตำแหน่งเจ้าอาวาสไม่นานนักผลงานการก่อสร้างจึงมีไม่มาก
งานปกครอง ท่านช่วยงานพระอุปัชฌาย์ มาด้วยดีโดยตลอด ในปีพ.ศ.๒๕๑๔ ท่านพระครูวินยาภินันท์ได้ มรณภาพลง คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้ท่านเป็นรักษาการเจ้าอาวาส และได้รับแต่งตั้งให้ดำรง ตำแหน่งเจ้าอาวาส ในปีพ.ศ.๒๕๑๕ ขณะนั้นมีพรรษาได้ ๑๐ พรรษา
- ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส เพื่อต้องการไปศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีต่อ ในปี พ.ศ.๒๕๑๖
- ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านถ้ำ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และมี ตำแหน่งทางการปกครอง คือ เป็นรองเจ้าคณะอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
- ท่านได้เป็นผู้ฝักใฝ่ในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และมีวาทศิลป์ในการแสดงธรรม และเป็นผู้มี บุคลิกภาพน่าเคารพเลื่อมใส นอกจากนี้ท่านยังเป็นสหธรรมิกร่วมสำนักบาลีเดียวกันกับพระเดช พระคุณฯ พระธรรมปริยัติเวที เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ เจ้าคณะภาค ๑๕ฯ และพระเดชพระคุณฯ พระราชรัตนมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม และเป็นรองเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ อีกด้วย


๙ พระราชเจติยาภิบาล
ชื่อ พระราชเจติยาภิบาล ฉายา ธมฺมธโร อายุ ๗๖ พรรษา ๔๙ น.ธ.เอก วัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด พระประโทณเจดีย์ วรวิหาร
สถานะเดิม ชื่อ จวน นามสกุล อิ่มเขียว เกิดวันเสาร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน๕ ปีระกา วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๖ บิดา นาย ผิน อิ่มเขียว มารดา นางมี อิ่มเขียว บ้านหมู่ที่ ๑๐ ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
มีพี่น้องด้วยร่วมมารดาเดียวกัน ๕ คน คือ
๑ นางจีน ศิริโภคา
๒ พระราชเจติยาภิบาล (จวน อิ่มเขียว)
๓ นางแก้ว ทิมบุตร
๔ นางก้าน อยู่เย็น
๕ นางกิ่ง บำรุงสุข
บรรพชา วันอาทิตย์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด วันที่ ๒๖ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๓ วัดพระประโทณ เจดีย์ ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม พระอุปัชฌาย์ พระครูวินยา ภินันท์ (หวัง) วัดพระประโทณเจดีย์
อุปสมบท วันอาทิตย์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด วันที่ ๒๖ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๓ วัดพระประโทณ เจดีย์ ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม พระอุปัชฌาย์ พระครูวินยา ภินันท์ (หวัง) วัดพระประโทณเจดีย์

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ขอเชิญร่วมตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง

ขอเชิญร่วมใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้งประจำปี พ.ศ.2552 ณ วัดพระประโทณเจดีย์ วร วิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ในวัดพุธ ที่ 22 กรกฏาคม 2552 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. - 10.00 น. เนื่องจากปีนี้มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาจำนวน 79 รูป ส่วนมากมาจากต่างจังหวัดเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี แผนกธรรม น.ธ. ตรี - โท - เอก จำนวน 45 รูป แผนกบาลีตั้งแต่ ประโยค 1-2 ถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค จำนวน 68 รูป กิจวัตรของพระภิกษุสามเณร ในภาคเช้าที่ไม่ได้ไปบิณฑบาตรมีหน้าที่ทำความสะอาดวัด จัดน้ำใช้น้ำฉันและสถานสำหรับฉัน อีกส่วนหนึ่งออกบิณฑบาตแล้วมาฉันในที่เดียวกัน เมื่อฉันแล้วยังมีอาหารเหลืออีกเป็นจำนวนมาก จึงเป็นอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียนโรงเรียนวัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร วันละ 50 - 60 คน ทุกวัน ของวันเปิดการสอน ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาในวันที่ฝนไม่ตก จะมีปัญหาเฉพาะวันที่ฝนตก ออกบิณฑบาตรไม่ได้ จึงทำให้พระภิกษุสามเณรที่มาจากต่างจังหวัดมีปัญหาเรื่องอาหารเกิดขึ้น ฉะนั้น จึงขอเชิญท่านผู้มีจิตศรัทธา บริจาค ข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อเก็บไว้บรรเทาความเดือดร้อนในเวลาที่ฝนตกออกบิณฑบาตไม่ได้ ตามกำลังศรัทธาของท่านทั้งหลาย

วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร


บทนำ

วัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 78 หลักกิโลเมตรที่ 52 ถ.เพชรเกษม ต.พระประโทน อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม อาณาเขตของวัดมีพื้นที่รวมทั้งหมด 120 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา โดยแบ่งเป็นพื้นที่วัด 74 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา ที่ธรณีสงฆ์
45 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา วัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร ได้รับมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2527 โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2527

ความเป็นมาของวัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร

วัดพระประโทณเจดีย์ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยที่อาณาจักรทวารวดีรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัตถุและสถาปัตยกรรม จากการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณใกล้เคียงองค์พระประโทณเจดีย์ ได้พบรูปกวางหมอบศิลาฝังอยู่ในแผ่นดิน ทางด้านทิศเหนือของวัด อยู่ห่างประมาณ 5 เส้นเศษ ลึกประมาณเมตรเศษ รวมอยู่กับเจดีย์เก่า และบริเวณนั้นมีอิฐโบราณอยู่เป็นจำนวนมาก กวงาหมอบศิลานั้นเป็นศิลปะแบบทวารวดี ที่ทำตามแบบในอินเดีย ครั้งสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เพราะในสมัยพระเจ้าอโศกนี้ ยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น จึงนิยมสร้างศิลปะวัตถุ ที่เกี่ยวกับสังเวชนียสถานเป็นส่วนมาก เช่นรูปกวางหมอบ เสมาธรรมจักรก็เป็นส่วนที่เกี่ยวกับตอนที่พระพุทธเจ้า แสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก ที่ป่า อิสิปตนมฤคหทายวัน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ยืนยัน ความเป็นมาของวัดพระประโทณเจดีย์ ควบคู่กับความเป็นมาของอาณาจักรทวารวดี คือ ได้พบเหรียญเงิน 2 เหรียญ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 และ 1.5 เซนติเมตร ค้นพบที่บ้านสองตอน (ปัจจุบัน อยู่ใกล้บ้านหนองบอนงาม) ม. 2 ต. พระประโทน อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม

เหรียญเงิน 2 เหรียญ ที่พบที่บ้านสองตอน

ซึ่งศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดสอ่านศิลาจารึกบนเหรียญดังกล่าว ได้ความว่า "ศรีทวารวดี ศวรบุณยะ" ซึ่งแปลว่า "บุญของพระราชาแห่งศรีทวารวดี" สมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวไว้ในเรื่องมูลเหตุการสร้างวัด ซึ่งกรมศาสนาพิมพ์ขึ้นไว้ในหนังสือชื่อใบลานตอนหนึ่งได้ทรงเอ่ยถึงวัดพระประ โทณเจดีย์ว่า ชั้นเดิมพระพุทธศาสนาคงจะรุ่งเรืองแต่ในบ้านเมืองแล้วจึงแผ่ออกไปที่อื่นโดย ลำดับ ด้วยเหตุนี้วัดในครั้งดึกดำบรรพ์ ซึ่งยังปรากฏอยู่จึงมักอยู่ในท้องถิ่นอันเป็นเมืองเก่า และเป็นเมืองอันเคยเป็นราชธานี โดยเฉพาะห่างออกไปหาใคร่จะมีไม่ จะยกเป็นอุทาหรณ์ดังเช่นเมืองนครปฐม นอกจากพระปฐมเจดีย์ ยังปรากฏวัดซึ่งมีเจดีย์ใหญ่ๆ สร้างไว้อีกหลายแห่ง แต่พอเห็นได้ง่ายในเวลานี้ เช่นวัดพระงาม และวัดพระประโทณเจดีย์ เป็นต้น นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงสันนิษฐานถึงเหตุแห่งการสร้างวัดไว้อีกว่า การสร้างวัดแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มี 2 ประการ คือ สร้างเป็นพุทธเจดีย์ ถือว่าเป็นหลักของพระพุทธศาสนาในที่แห่งนั้นอย่างหนึ่ง สร้างเป็นอนุสาวรีย์เจดีย์ เป็นที่บรรจุอัฐิของท่านผู้ทรงคุณธรรมในศาสนาอินเดียโบราณอย่างหนึ่ง แต่ก็อุทิศให้เป็นเรือนเจดีย์ในพระพุทธศาสนาด้วย

เนื่องจากวัดในสมัยทวารวดีนั้นคงจะมีหลายวัด ที่มีความสำคัญ เช่น วัดพระปฐมเจดีย์ ฯ วัดพระงาม วัดพระประโทณเจดีย์ เป็นต้น แต่หลักฐานที่ยืนยันว่าพระประโทณเจดีย์อยู่กลางเมืองศูนย์กลางความเจริญใน สมัยทวารวดี ก็คือ จากการค้นพบโดยการถ่ายภาพถ่ายทางอากาศ ที่หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล ทรงบรรยายที่พระประโทณเจดีย์และเจดีย์จุลประโทน

เจดีย์จุลประโทน

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 ให้คณะนักโบราณคดีที่มาร่วมในสถานที่นี้ว่า ศิลปะทวารวดีนี้ ปัจจุบันมีการขุดค้นกันมาก โดยเฉพาะที่เมืองนครปฐม คือเราเชื่อกันมานานแล้วว่า เมืองนครปฐมนี้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักร และได้ค้นพบศิลปะทวารวดีที่นี่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงถึงการได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะ อินเดียแบบคุปตะ และหลังคุปตะ แต่ว่าตัวเมืองยังค้นไม่พบ เมื่อเร็วๆนี้มีการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศ ทำให้สามารถทราบได้ว่า เมืองโบราณที่นครปฐมนั้น ตั้งอยู่ทิศตะวันออกขององค์พระปฐมเจดีย์ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือตั้งอยู่ในบริเวณตำบลพระประโทน มีพระประโทณเจดีย์เป็นศูนย์กลาง การที่กล่าวถึงสถานที่สำคัญเช่น พระปฐมเจดีย์ ว่าตั้งอยู่นอกเมืองโบราณนี้ไม่เป็นของแปลก เพราะว่าในสมัยโบราณเขาทำกันแบบนี้ทั้งสิ้น คือ ศาสนสถานใหญ่ๆ ที่สำคัญ มักตั้งอยู่นอกเมือง อาจเป็นเพราะต้องการความสงบเงียบก็ได้ เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ก็ได้ค้นพบแล้วว่า เมืองสมัยวารวดีที่นครปฐมนั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของนครปฐมและมีพระประโทณเจดีย์ เป็นจุดศูนย์กลาง ได้ค้นพบร่องรอยมีคูล้อมรอบตัวเมืองคล้ายรูปไข่ซึ่งเป็นสมัยทวารวดีปรากฏ อยู่ จากอดีตอันยาวนานไม่ต่ำกว่า 1,500 ปี วัดพระประโทณเจดีย์ได้ผ่านยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด แล้วทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และได้พลิกฟื้นเจริญรุ่งเรืองมาอยู่ในระดับวัดแนวหน้า จนได้รับยกย่องเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ได้รับยกย่องเป็นวัดพัฒนาดีเด่น และยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร และได้รับพระราชทานพัด วัดพัฒนาดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. 2527 ดังนี้ ก็เพราะความพยายามอย่างยวดยิ่ง ในการปรับปรุงพัฒนาบริเวณภายในวัด ให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยเจริญตาเจริญใจแก่ผู้พบเห็น ได้ซ่อมแซมก่อสร้างกุฏิวิหารให้มั่นคงแข็งแรงสวยงาม ของหลวงพ่อเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือ พระเดชพระคุณฯ พระราชเจติยาภิบาล


พระราชเจติยาภิบาล เจ้าอาวาส

วัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร ในปัจจุบันเป็นวัดที่มีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ 6 ด้านด้วยกัน คือ

1. เป็นวัดที่มีความสะอาดสวยงาม เจริญตาเจริญใจของผู้พบเห็น
2. เป็นวัดที่มีการวางผังอย่างดีเยี่ยม สิ่งปลูกสร้างภายในวัดเป็นระเบียบเรียบร้อย ทรงไทยทั้งหมด

ความสวยงามสะอาดตาและการวางผังที่ดีเยี่ยมของวัดพระประโทนเจดีย์ วรวิหาร

3. เป็นวัดที่ส่งเสริมสนับสนุน การศึกษาของพระภิกษุสามเณรมาโดยตลอด พระภิกษุสามเณรของวัด จึงมีแต่รูปที่ฝักใฝ่แต่การศึกษาเกือบทั้งหมด
4. เป็นวัดที่ริเริ่มและดำเนินโครงการข้าวก้นบาตร เพื่อสงเคราะห์นักเรียนโรงเรียนวัดพระประโทณเจดีย์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 มาจนถึงปัจจุบัน และมีนักเรียนมารับประทานอาหาร 30-40 คน ของวันที่ทำการเปิดสอนทุกวัน
5. เป็นที่ประดิษฐานขององค์พระประโทณเจดีย์ ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญ เป็นแบบทวารวดี
6. เป็นวัดที่มีการปกครองโดยยึดหลักพระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ และทรงบัญญัติไว้ และตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ กฎระเบียบของมหาเถรสมาคม คำสั่งของผู้บังคับบัญชา เป็นหลักสำคัญ

ในปี พ.ศ.2552 ปีปัจจุบันนี้ วัดพระประโทณเจดีย์ มีภิกษุสามเณร รวมทั้งหมด 79 รูป
แยกเป็นพระภิกษุ 29 รูป สามเณร 50 รูป

สำหรับสถานที่ราชการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัด มีทั้งหมด 4 แห่ง ด้วยกัน คือ
1. วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม สังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
2. สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดนครปฐม สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช)
3. โรงเรียนวัดพระประโทณเจดีย์
4. สำนักงานสุขาภิบาลธรรมศาลา ตำบลธรรมศาลา

จุลประโทณเจดีย์

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ห่างจากพระประโทณเจดีย์ ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร เข้าไปทางถนนสายต้นสำโรง ข้างวิทยาลัยเทคนิคนครปฐมด้านทิศตะวันออก พ.ศ. 2483 กรมศิลปากร ได้ร่วมมือกับศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ มองสิเออร์ ปิแอร์ดูปองต์ ทำการขุดค้นพร้อมกับ ขุดวัดพระเมรุ ใกล้สวนนันทอุทยาน พบเจดีย์ใหญ่ยอดปรักหักพังหมด และยังพบปฏิมากรรม เช่น ประเภทรูปปั้นดินเผา ในสมัยแรกสร้าง ประเภทปูนปั้นในสมัยที่ 2 จากการขุดพบสันนิษฐานว่าเจดีย์จุลประโทณ ได้ก่อสร้างเพิ่มเติมมาถึง 3 สมัยด้วยกัน แต่การสร้างครั้งที่ 3 ไม่ปรากฏรอยให้เห็นในปัจจุบัน เพราะต้องรื้อออกให้เห็นการสร้างครั้งที่ 2 และครั้งที่ 1 โบราณวัตถุ ที่ขุดพบในบริเวณเจดีย์จุลประโทณมีมากมาย โดยเฉพาะในสมัยพระครูสมถกิตติคุณ (ชุ่ม) เช่น พระพุทธรูป ลูกประคำ เศียรพราหมณ์ เศียรพระพุทธรูป ซึ่งทำด้วยปูนปั้นตามที่กล่าวมาแล้ว

โบราณวัตถุเหล่านี้ ได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันส่วนใหญ่แสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดนครปฐม และมีบางส่วนที่หลวงพ่อชุ่ม ได้นำไปติดไว้รอบเจดีย์โดยท่านได้สร้างเจดีย์ไว้หน้ากุฏิของท่าน ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เป็นแหล่งรวบรวมและแสดงโบราณวัตถุสมัยทวารวดี ของวัดพระประโทณเจดีย์ แต่ละปีจะมีนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาดูมาศึกษาเป็นระยะๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่บรรจุอัฐิของท่านด้วย

ที่มาของโบราณวัตถุที่พระครูสมถกิตติคุณ (ชุ่ม) นำไปมอบให้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดนครปฐม และที่ท่านเก็บรวบรวมไว้ในอนุสาวรีย์เจดีย์ หน้ากุฏิของท่าน ซึ่งถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ของวัดพระประโทณเจดีย์ บางส่วนหลวงพ่อได้มาจากชาวบ้านที่ขุดพบในบริเวณที่ดินของตนเอง แล้วนำมามอบให้ท่านเก็บไว้ ซึ่งก็มีเป็นจำนวนมาก

วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

ประวัติองค์พระปฐมเจดีย์

องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นปูชนียสถานอันสำคัญของประเทศไทย อยู่ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร มีประวัติความเป็นมายาวนานในแผ่นดินสุวรรณภูมิ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ใหญ่ รูประฆังคว่ำ ปากผายมหึมา โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นมหึมาก่ออิฐ ถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ประกอบด้วยวิหาร 4 ทิศ กำแพงแก้ว 2 ชั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพสักการะบูชาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทางวัดกำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึง วันแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวม 9 วัน 9 คืน เป็น ประจำทุกปี

ประวัติองค์พระปฐมเจดีย์

พระปฐมเจดีย์ หรือเดิมเรียกว่า พระธมเจดีย์ มีฐานะเป็นมหาธาตุหลวง ของแผ่นดินสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า พระธมเจดีย์องค์นี้ อาจเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้น เมื่อคราวที่พระสมณทูต ในพระเจ้าอโศกมหาราช เดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิ ก็เป็นได้ เพราะพระเจดีย์เดิม มีลักษณะทรงโอคว่ำ หรือทรงมะนาวผ่าซีก แบบเดียวกับพระสถูปสาญจี แต่ปรากฏว่ามียอดเป็นแบบปรางค์ ซึ่งพระองค์ฯ ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า อาจมีเจ้านายพระองค์ใดมาบูรณะไว้ก็เป็นได้ ซึ่งตรงกับความในศิลาจารึกหลักที่ 2 (ศิลาจารึกวัดศรีชุม) ของ พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ อันได้กล่าวไว้ว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ท่านทรงได้แวะมาบูรณะพระธมเจดีย์องค์นี้ ก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับเมืองราด เมื่อคราวที่ท่านเสด็จกลับจากศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานนามใหม่ว่า พระปฐมเจดีย์ ด้วยทรงเชื่อ ว่านี่คือเจดีย์แห่งแรกของสุวรรณภูมิ นั่นเอง

ในเรื่องนี้ นักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีบางท่าน ได้ระบุว่า พระปฐมเจดีย์ไม่ได้เป็นเจดีย์ที่เก่าที่สุดของสุวรรณภูมิ แต่เป็น พระมหาธาตุหลวง ในยุคทวารวดี มากกว่า เนื่องด้วยเหตุผลประกอบหลายประการ โดยเฉพาะ การค้นพบเจดีย์ ที่มีอายุเก่าแก่กว่าพระธมเจดีย์ และหลักฐานลายลักษณ์อักษร ที่ระบุว่า " พระเจดีย์องค์นี้ เดิม ขอมเรียก พระธม " ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาวขอมจริงๆ หรือชาวลวรัฐ ซึ่งสมัยนั้นเราก็เรียกว่าขอม เช่น ขอมสบาดโขลญลำพง คำว่า ธม สำหรับชาวขอมนั้น แปลว่า ใหญ่ ตรงกับคำเมืองว่า หลวง ซึ่งเราก็เรียกพระนครธม ว่า พระนครหลวง ด้วยเหตุผลเดียวกัน

นอกจากนี้พระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรจุที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และฐานพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร ตามที่มีพระบรมราชโองการสั่งไว้ในพระราชพินัยกรรม ต่อมา ในพุทธศักราช 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระอังคารของ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 ไปบรรจุไว้เคียงข้างพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 6 ที่ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์



วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551

ประวัติองค์พระประโทณเจดีย์


พระประโทณเจดีย์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระประโทณเจดีย์ อยู่ห่างจากตัวเมืองนครปฐมไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๔ กิโลเมตร ลักษณะศิลปะกรรม เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ ยังปรากฏซากเนินขนาดใหญ่ เป็นรูปสี่เหลี่ยมอยู่กลางวัด แต่เดิมสถูปพระประโทณ เป็นรูปทรงโอ่งคว่ำ พระประโทณเจดีย์ เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม เป็นที่สองรองจากพระปฐมเจดีย์ ยังปรากฏซากเนินใหญ่อยู่กลางวัดเป็นสำคัญ พระประโทณเจดีย์ ตั้งอยู่กลางวัดเป็นเนินใหญ่ อยู่บนพื้นฐานสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐ อิฐที่ก่อเป็นฐานรอบเนินนี้ เป็นของก่อขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพื่อกันดินพัง ไม่ใช่ของที่สร้างไว้เดิม บนยอดเนินมีปรางค์อยู่องค์หนึ่ง ทรวดทรงเตี้ยกว่าองค์ที่สร้างบนยอดเนินพระปฐมเจดีย์ บนพื้นฐานเป็นลานกว้างมีต้นไม้ขึ้นร่มรื่นและเดินไปได้โดยรอบ ที่เนินปรางมีบันไดสูงขึ้นไปยังองค์ปรางค์ซึ่งอยู่บนยอดเนิน สูงจากพื้นดินประมาณ ๒๐ เมตร เมื่อขึ้นบรรไดไปข้างบนสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของจังหวัดนครปฐมได้โดยรอบ
พระประโทณเจดีย์ เดิมทีเดียวเป็นวัดที่มีต้นไม้ขึ้นรกมาก เต็มไปด้วยป่าไผ่ มีไก่ป่าชุกชุม ดังเห็นได้ตามคำพรรณนาของนายมี ในนิราศพระแท่นดงรัง ว่า
ถึงประโทณารามพราหมณ์เขาสร้าง
เป็นพระปรางค์แต่บุราณนานนักหนา
แต่ครั้งตวงพระธาตุพระศาสดา
พราหมณ์ศรัทธาสร้างสรรไว้มั่นคง
บรรจุพระทะนานทองของวิเศษ
ที่น้อมเกศอนุโมทนาอานิสงส์
จุดธูปเทียนอภิวันท์ด้วยบรรจง
ถวายธงแพรผ้าแล้วลาจร
ดูสองข้างมรรคาล้วนป่าไผ่
คนตัดใช้ทุกกอตอสลอน
หนามแขนงแกว่งห้อยรอยเขารอน
บ้างเป็นท่อนแห้งหักทะลักทะลุย
ที่โคนไผ่ไก่ป่ามาซุ่มซุก
บ้างกกกุกเขี่ยดินกินลูกขุย
พอเห็นคนวนบินดินกระจุย
เป็นรอยคุ้ยรอบข้างหนทางจร
ได้ยินคนเก่าๆ เล่าว่าแต่ก่อนนั้น บริเวณวัดพระประโทณ รกมากเต็มไปด้วยต้นไม้และป่าไผ่ เคยมีเสือเข้าไปคลอดลูกในวิหารหลวงพ่อโต พอตกตอนเย็นพระไปปิดประตูวิหารใส่กุญแจ โดยไม่ทันได้พิจารณา ได้ขังแม่เสือไว้ในนั้น แม่เสือได้ตะกุยบานประตูวิหารเพื่อหาทางออก จนเป็นรอยเล็บเสือติดอยู่ที่ประตูเป็นพยาน แต่เดี๋ยวนี้ได้ทำการซ่อมวิหารเสียใหม่ ได้ลบร่องรอยอันนั้นแล้ว แต่ยังเหลือเป็นบางส่วน ที่พระประโทณเจดีย์นี้เดิมมีพระจำพรรษามานานแล้ว เพราะปรากฏว่าเคยมีพระเถระก่อนที่จะไปรุกขมูลที่พระแท่นศิลาอาสน์ ต้องมาอยู่ปริวาสกรรมที่วัดพระประโทณเจดีย์นี้ก่อน แล้วจึงค่อยไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์เมืองอุตรดิตถ์ ดังปรากฏตามคำบอกเล่า ในหนังสือปกิณณกฉันท์ ซึ่งพิมพ์แจกในงานทำบุญฉลองอายุครบ ๗๐ ปี ในพ.ศ. ๒๔๗๔ ของพระครูปัจฉิมทิศบริหาร เจ้าคณะหมวดวัดงิ้วลาย ในหนังสือได้เล่าประวัติย่อของท่านว่า ท่านได้อุปสมบทกับน้องชายที่วัดแค ท่านพระครูปุริมานุรักษ์ (คด) วัดสุปดิษฐาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่ทรัพย์ วัดงิ้วลาย เป็นพระกรรมวาจา หลวงพ่อยิ้ว วัดแค เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อได้อุปสมบทแล้วพรรษาต้น ท่องสวดมนต์จบ สมัยท่องพระปาฏิโมกข์ถึงอนิยต ครั้งถึงอนุโมทนากฐินแล้วปรารภจะไปรุกขมูล ไปกับอาจารย์ทาไปพักอยู่วัดครุฑ ในคลองมอญ ได้ทราบข่าว สมเด็จพระพุทธปาทปิลันธน์ วัดระฆังโฆสิตาราม จะเสด็งรุกขมูลทางพระแท่นศิลาอาสน์ ก็พร้อมกันมาพักอยู่ที่วัดพระประโทณเจดีย์ เมื่อท่านเสด็จมาอยู่ปริวาสกรรมที่วัดพระประโทณเจดีย์ เสร็จแล้วออกเดินทางไปจนถึงพระแท่นศิลาอาสน์เมืองอุตรดิตถ์

พระประโทนเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียงเลื่องลือ เป็นที่ปรากฏตั้งแต่สมัยโบราณ จากอมตะวรรณกรรมของสุนทรภู่ ได้บรรยายตำนานเกี่ยวกับพระประโทนเจดีย์ ไว้ในนิราศ พระประธม-พระประโทน ตอนหนึ่งว่า

เอาพานทองรองประสูติพระบุตรา
กระทบหน้าแต่น้อยน้อยเป็นรอยพาน
พอโหรทายร้ายกาจไม่พลาดเพลี่ยง
ผู้ใดเลี้ยงลูกน้องจะพลอยผลาญ
พญากงส่งไปให้นายพราน
ทิ้งที่ธารน้ำใหญ่ยังไม่ตาย
ยายหอมรู้จู่ไปเอาไปเลี้ยง
แกรักเพียงลูกรักไม่หักหาย
ใครถามไถ่ไม่แจ้งให้แพร่งพราย
ลูกผู้ชายชื่นชิดสู้ปิดบัง
ครั้นเติบใหญ่ได้วิชาตะปะขาว
แกเป็นชาวเชิงพนมอาคมขลัง
รู้ผูกหญ้าพยนต์มนต์จังงัง
มีกำลังลือฤทธิ์พิสดาร
พญากงลงมาจับก็รับรบ
ติดกระทบทัพย่นถึงชนสาร

ฝ่ายท้าวพ่อมรณาพญาพาน
จึงได้ผ่านพบผดุงกรุงสุพรรณ
เข้าหาพระมเหสีเห็นมีแผล
จึงเล่าแต่ความจริงทุกสิ่งสรรพ์
เธอรู้ความถามไถ่ได้สำคัญ
ด้วยคราวนั้นคนเขารู้ทุกผู้คน
ครั้นถามไถ่ยายหอมก็ยอมผิด
ด้วยปกปิดปฏิเสธด้วยเหตุผล
เธอโกรธฆ่ายายนั้นวายชนม์
จึงให้คนก่อสร้างพระปรางค์ประโทน

ตามนิยายปรัมปรากล่าวถึงมูลเหตุการสร้างพระประโทนเจดีย์นี้ว่า พญาพาน ได้สร้างขึ้นโดยมีเรื่องว่า เมื่อพญากงได้ครองเมืองศรีวิชัย คือ เมืองนครปฐมในปัจจุบันนี้ สืบต่อจากพระเจ้าสิการาชผู้เป็นพระราชบิดาแล้ว ต่อมาได้พระราชบุตรประสูตแต่พระมเหสีองค์หนึ่ง โหรได้ถวายคำพยากรณ์ พระราชกุมาร ว่าจะเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก จะได้ครองราชสมบัติ เป็นกษัตริย์ต่อไปในภายหน้า แต่ว่าพระราชกุมารนี้จะกระทำปิตุฆาต คือ ฆ่าพ่อ เมื่อพญากงได้ทราบดังนั้น จึงรับสั่งให้ราชบุรุษ พา พระราชกุมารไปฆ่าทิ้งเสียในป่า ราชบุรุษจึงนำไปทิ้งไว้ที่ป่าไผ่ ที่ไร่ของยายหอม ยายพรมไปพบพระราชกุมาร จึงเก็บมาเลี้ยงไว้ แต่ยายพรมมีลูกหลานมาก จึงยกพระราชกุมารให้ยายหอมไปเลี้ยงไว้ ยายหอมได้เลี้ยงพระราชกุมาร แล้วนำไปให้เจ้าเมืองราชบุรีเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม แต่เมืองราชบุรีเป็นเมืองขึ้นของเมืองศรีวิชัย อยู่ภายหลังพระราชกุมารเติบโตขึ้น ได้แข็งเมืองไม่ยอมส่งบรรณาการ และได้ท้ารบกับพระยากง จนได้ชนช้างกัน เมื่อฆ่าพญากงสำเร็จแล้วได้เข้าเมืองศรีวิชัย เวลานั้นพระมเหสีของพญากงซึ่งเป็นพระชนนีของพญาพาน ยังมีพระชนม์อยู่ กล่าวกันว่ารูปโฉมสวยงาม พญาพานคิดอยากได้เป็นมเหสี ได้เสด็จเข้าไปที่ตำหนัก เทพยดาได้แปลงเป็นแพะบ้าง บ้างก็แปลงเป็นแมวแม่ลูกอ่อน นอนขวางบันไดปราสาทอยู่ เมื่อพญาพานข้ามสัตว์ทั้งสองนั้นไป สัตว์จึงพูดกับแม่ว่าท่านเห็นเป็นเดรัจฉานจึงข้ามไป แม่ตอบลูกว่า นับประสาอะไรกับเราเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่มารดาของท่าน ท่านยังจะเอาเป็นเมีย พญาพานได้ฟังดังนั้นก็ประหลาดพระทัยนัก จึงทรงตั้งอธิษฐานว่า ถ้าพระมเหสีของพระยากงเป็นพระมารดาของเราจริงแล้ว ขอให้น้ำนมหลั่งออกจากถันทั้งสองข้างให้ปรากฏ ถ้าไม่ใช่พระมารดาของเราก็ขออย่าให้น้ำนมไหลออกมาเลย พญาพานตั้งอธิษฐานแล้ว น้ำนมได้หลั่งออกมาจากถันเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา พญาพานจึงได้ไต่ถาม ได้ความว่าเป็นพระมารดาจริงแล้ว ก็ทรงดื่มกินน้ำนม และทรงทราบว่าพญากงเป็นพระราชบิดา จึงโกรธยายหอมว่า มิได้บอกให้ตนทราบว่าเป็นบุตรใคร จนได้ทำบาปถึงฆ่าพ่อ แล้วได้ไปเรียกยายหอมมา แล้วจับยายหอมฆ่าเสีย คนทั้งปวงจึงเรียกพระราชกุมารว่า พญาพาน เพราะไม่รู้จักคุณคนก็มี เรียกพญาพานเพราะเมื่อเวลาเกิดนั้น พระพักตร์กระทบพานทองเป็นแผลก็มี เมื่อพญาพานฆ่ายายหอมแล้ว รู้สึกเสียพระทัย ว่าฆ่าผู้มีพระคุณเสียแล้วอีกคนหนึ่ง จึงได้ถามสมณพราหมณาจารย์ว่าจะทำอย่างไร จึงจะล้างบาปในการฆ่าพระราชบิดาและฆ่ายายหอม ผู้ที่ได้เลี้ยงตนมาแต่เยาว์วัย พระสงฆ์ก็ได้ถวายพระพรว่า ให้สร้างเจดีย์สูงแค่นกเขาเหิน จึงได้สร้างพระปฐมเจดีย์ขึ้นเพื่อล้างบาปที่ฆ่าพ่อ และสร้างพระประโทณเจดีย์ขึ้นเพื่อล้างบาปที่ฆ่ายายหอม ตั้งแต่นั้นมา


ตามตำนานที่กล่าวมารู้สึกเป็นนิยายพื้นเมืองที่ได้เล่าลือกันมาเพื่อเป็นเครื่องเชื่อมโยงเรื่องราวให้ปะติดปะต่อกัน นับว่าเป็นประโยชน์ดีอยู่ ในตำนานพระอารามหลวง ยังได้เขียนบอกชื่อผู้ที่สร้างวัดประโทณเจดีย์ และวัดพระปฐมเจดีย์ว่า พญาพานเป็นผู้สร้าง แต่จะเป็นผู้ใดสร้างนั้น เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานทางจดหมายเหตุ นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่าผู้สร้างต้องเป็นกษัตริย์ ที่ทรงศักดานุภาพ และมีศรัทธาแก่กล้าในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงได้สามารถสละทรัพย์มหาศาลถึงเพียงนี้ได้